ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2383

ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2383 เป็นการกบฏต่อต้านเวียดนามของชาวกัมพูชาในช่วงสั้น ๆ ที่ต่อสู้อย่างหนักโดยเฉพาะบริเวณไพรแวงและบาพนม[1]ใน พ.ศ. 2383 พระองค์เม็ญ พระราชินีนาถแห่งกัมพูชาซึ่งสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาคือสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีถูกญวนปลดออกจากราชบัลลังก์ พระองค์ถูกจับและเนรเทศไปยังเวียดนามพร้อมกับพระญาติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ขุนนางกัมพูชาจำนวนมากและผู้ติดตามของพวกเขาจึงลุกฮือต่อต้านการปกครองของเวียดนาม[2] ฝ่ายกบฏได้ร้องขอต่อสยามให้สนับสนุนผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กัมพูชาอีกพระองค์หนึ่งคือองค์ด้วง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอบสนองคำร้องขอโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งองค์ด้วงกลับจากการเนรเทศที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วยกองทหารสยามเพื่อสถาปนาพระองค์ขึ้นครองราชย์[3]เวียดนามถูกโจมตีจากทั้งกองทหารสยามและกบฏกัมพูชา ที่เลวร้ายกว่านั้น ในโคชินไชนา มีการก่อกบฏหลายครั้ง กำลังหลักของเวียดนามเดินทัพไปยังโคชินไชนาเพื่อปราบกบฏเหล่านั้น จักรพรรดิเถี่ยว จิ จักรพรรดิเวียดนามองค์ใหม่ซึ่งสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาคือจักรพรรดิมิญ หมั่ง ตัดสินพระทัยหาทางออกโดยสันติ[4] เจือง มิญ สาง หรือในเอกสารทางฝั่งไทยเรียกว่า องเตียนกุน ข้าหลวงประจำเจิ๊นเต็ย (กัมพูชา) ถูกเรียกตัวกลับ เจือง มิญ สางถูกจับและฆ่าตัวตายในคุกในเวลาต่อมา[5]องค์ด้วงหรือสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดีตกลงให้กัมพูชาอยู่ภายใต้การคุ้มครองร่วมระหว่างสยาม-ญวนในปี พ.ศ. 2389 เวียดนามได้ปล่อยตัวพระราชวงศ์กัมพูชาและส่งคืนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในเวลาเดียวกัน กองทหารเวียดนามก็ถอนกำลังออกจากกัมพูชา ในที่สุดเวียดนามก็สูญเสียการควบคุมกัมพูชา กัมพูชาได้รับเอกราชจากเวียดนาม แม้ว่ากองทหารสยามจะยังเหลืออยู่ในกัมพูชาอยู่บ้าง แต่กษัตริย์กัมพูชาก็มีอำนาจปกครองตนเองมากกว่าแต่ก่อน[6]